วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ดิน คือสินทรัพย์ตามแนวพระราชดำริ

วิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อการเกษตร
1.เพื่อปลูกข้าว ในเขตชลประทาน ถ้าดินมีค่า pH น้อยกว่า 4.0 ใช้ปูนในอัตราส่วนประมาณ 1.5 ตันต่อไร่ และถ้าดินมีค่า pH ระหว่าง 4.0-4.5 ให้ใช้ปูนในอัตรา 1 ตันต่อไร่
 
ในเขตเกษตรน้ำฝน ดินที่มีค่า pH น้อยกว่า 4.0 ใช้ปูนในอัตราประมาณ 2.5 ตันต่อไร่และถ้าดินมีค่า pH ระหว่าง 4.0-4.5 ใช้ปูนในอัตรา 1.5 ตันต่อไร่
ขั้นตอนการปรับปรุงดินเปรี้ยวเพื่อปลูกข้าว
          1.เมื่อหว่านปูนแล้วให้ทำการไถแปร
          2.ปล่อยน้ำเข้าในนาแล้วแช่ขังไว้ประมาณ 10 วัน
          3.จากนั้นให้ระบายน้ำออกเป็นการชะล้างสารพิษ
          4.ปล่อยน้ำเข้าไปขังใหม่เพื่อใช้ในการปักดำ
2. เพื่อปลูกพืชล้มลุก จะแยกเป็นการปลูกผักและการปลูกพืชไร่
          2.1 การปลูกพืชผัก มีลำดับขั้นตอนดังนี้ คือ
                    1) ยกร่องสวน โดยใช้สันร่องมีขนาดกว้างประมาณ 6-7 เมตร มีคูระบายน้ำกว้าง 1.5 เมตรและลึกประมาณ 50 เซนติเมตร หรือลึกพอถึงระดับขั้นดินเลนที่มีสารประกอบไพไรต์มาก
                    2) ไถพรวนดิน แล้วตากทิ้งไว้ 3-5 วัน
                    3) ทำแปลงย่อยบนสันร่อง โดยยกแปลงให้สูงประมาณ 25-30 เซนติเมตร กว้างประมาณ1-2 เมตร เพื่อระบายน้ำบนสันร่องและเพื่อป้องกันไม่ให้แปลงย่อยแฉะเมื่อรดน้ำหรือเมื่อมีฝนตก
 
                    4) ใส่วัสดุปูนเพื่อลดความเป็นกรดของดินคือใช้หินปูนฝุ่นหรือปูนมาร์ลอัตราประมาณ 2-3 ตันต่อไร่หรือประมาณ 2 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร โดยการคลุกเคล้าปูนให้เข้ากับดินและทิ้งไว้ 15 วัน
                    5) ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรียในอัตรา 5 ตันต่อไร่หรือประมาณ 3 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร โดยใส่ก่อนปลูก 1 วันเพื่อปรับปรุงดินให้ร่วนซุยมีส่วนประกอบของดินดี
          2.2 การปลูกพืชไร่บางชนิด อาจกระทำได้ 2 วิธี คือ แบบยกร่องสวนและแบบปลูกสลับหลังฤดูทำนา การปลูกพืชไร่แบบยกร่องสวนเป็นการปลูกพืชไร่แบบถาวร มีวิธีเตรียมพื้นที่แบบเดียวกับการปลูกพืชผัก สำหรับการปลูกพืชไร่แบบปลูกสลับหลังฤดูทำนาจะอยู่ในช่วงปลายฤดูฝนหรือหลังจากฝนหยุดตกแล้วการเตรียมพื้นที่ก็เนเดียวกันการเตรียมเพื่อการปลูกพืชไร่ทั่ว ๆ ไห แต่อาจต้องยกแนวร่องปลูกพืชไร่ให้สูงกว่าการปลูกบนพื้นที่ดินตอนประมาณ 10-20 เซนติเมตรเพื้อป้องกันมิให้น้ำแช่ขัง ถ้ามีฝนตกผิดฤดูหรือถ้าดินในบริเวณนั้นเคยได้รับ การปรับปรุงโดยใช้ปูนมาแล้ว คาดว่าคงไม่จำเป็นต้องใช้ปูนอีก

3. เพื่อปลูกไม้ผล ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้
          1) สร้างคันดินกั้นน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบแปลง เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในฤดูฝน พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกตามต้องการ ขนาดของเครื่องสูบน้ำขึ้นอยู่กับปริมาณพื้นที่ที่จะสูบและปริมาตรน้ำฝน โดยประมาณจากปริมาตรของฝนที่ตกลงมาเป็นประจำ
          2) ทำการยกร่องปลูกพืชตามวิธีการปรับปรุงพื้นที่ที่มีดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกไม้ผลดังที่กล่าวแล้ว
          3) น้ำในคูระบายน้ำจะเป็นน้ำเปรี้ยว ต้องทำการระบายออกเมื่อเปรี้ยวจัดและสูบน้ำจืดมาแทนใหม่ ช่วงเวลาถ่ายน้ำประมาณ 3-4 เดือนต่อครั้ง
          4) ควบคุมระดับน้ำในคูระบายน้ำไม่ให้ต่ำว่าชั้นดินเลนที่มีสารประกอบไพไรต์มาก เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาที่จะทำให้ดินมีความเป็นกรดเพื่มขึ้น
          5) ใส่ปูน อาจเป็นปูนขาว ปูนมาร์ล หรือหินปูนฝุ่น ตามแต่จะหาได้ภายในพื้นที่ โดยหว่านทั่วทั้งร่องที่ปลูกในอัตราประมาณ 1-2 ตันต่อไร่
          6) ระยะเวลาที่ปลูกกำหนดให้เหมาะสมตามชนิดของพืช
          7) ขุดหลุมปลูกขนาดกว้าง ยาว และลึก 50-100 เซนติเมตร แยกดินชั้นบนและชั้นล่างไว้ต่างหาก ตากทิ้งไว้ 1-2 เดือนเพื่อฆ่าเชื้อโรค เอาส่วนที่เป็นหน้าดินผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก หรือบางส่วนของดินชั้นล่าง แล้วกลบลงไปในหลุมให้เต็ม ปุ๋ยหมักใส่ในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อตัน โดยผสมคลุกเคล้าให้เข้ากับปูนในอัตราประมาณ 15 กิโลกรัมต่อหลุม
          8) ดูแลปราบวัชพืช ดรค แมลง และให้น้ำตามปกติ สำหรับการใช้ปุ๋ยบำรุงดินให้พิจารณาตามความเหมาะสม

          จากแนวพระราชดำริในทฤษฎี “ แกล้งดิน” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยต่อและสรุปผลได้ดังนี้
          ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดินกรดกำมะถัน เพื่อเร่งให้ดินเป็นกรดจัดรุนแรง โดยการทำให้ดินแห้งเปียกสลับกัน จากนั้นจึงศึกษาวิธีการปรับปรุงดินด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ได้ดินที่เหมาะสมในการปลูกพืช คือ
          แบ่งพื้นที่ศึกษาเป็น 6 แปลง แลงที่ 1-4 ทดสอบขังน้ำไว้ 4 สัปดาห์แล้วปล่อยให้แห้ง 8 สัปดาห์สลับกันไป แปลงที่ 5 และ 6 ปล่อยไปตามสภาพธรรมชาติ นำดินจากพื้นที่ทั้ง 6 แปลงมาตรวจวิเคราะห์พบว่าการทำให้ดินแห้งและเมื่อทดลองต่อไปก็พบว่า ยิ่งปล่อยให้ดินแห้งนานมากขึ้น ความเป็นกรดจะรุนแรงมากกว่าการให้น้ำขังนาน ๆ และการใช้น้ำหมุนเวียนไม่มีการระบายออก จะทำให้ความเป็นกรดและสารพิษในดินสะสมมากขึ้น
          ต่อมาได้ดำเนินการปรับปรุงดิน โดยการใช้น้ำชะล้างแล้วใส่หินปูนฝุ่นในปริมาณน้อย สามารถปรับปรุงดินกรดกำมะถันได้อย่างดี การใช้น้ำชะล้างพียงอย่างเดียวก็ได้ผลเช่นกัน แต่ต้องใช้เวลานานกว่า และหลังจากปรับปรุงดินแล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่ใช้ประโยชน์จะทำให้ดินกลับเป็นกรดจัดรุนแรงขึ้นอีก และถ้าปล่อยดินให้เป็นไปตามธรรมชาติโดยไม่มีการปรับปรุง จะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของความเป็นกรดจัดน้อยกว่า
          ด้วยพระเมตตา บัดนี้พื้นที่ดินเปรี้ยวจัดมืใช่พื้นที่ไร้ประโยชน์อีกแล้ว แต่สามารถนำมาทำการเกษรตได้ทั้งปลูกข้าว ข้าวโพด ถั่วต่างๆ อ้อย งา มันเทศ พืชผัก ไม้ผลและไม้ยืนต้น พืชอาหารสัตว์ และขุดบ่อเลี้ยงปลา ได้ผลดีจนนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นของราษฏรในแถบนั้น ซึ่งต่างพากันสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิรู้ลืม

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
-หนังสือดินคือสินทรัพย์ตามแนวพระราชดำริ
-หนังสือดินกับการผลิตพืช

ทฤษฎีแกล้งดิน 2

สืบเนื่องจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐานไปยังจังหวัดต่าง ๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอในการเสด็จแปรพระราชฐานทุกครั้งมิได้เพื่อทรงพักผ่อนเช่นสามัญชนทั่วไป แต่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรหรือติดตามโครงการต่าง ๆ ที่ทรงริเริ่มหรือมีพระราชดำริไว้ ดังนั้นเพื่อเป็นการถวายความสะดวกแด่พระประมุขของชาติ รัฐบาลจึงสร้างพระตำหนักน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นที่ประทับในคราวเสด็จแปรพระราชฐานไว้ในหลายจังหวัด เช่น พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ที่จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น
          จากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดภาคใต้ ทำให้ทรงทราวว่าราษฎรมีความเดือดร้อนหลายเรื่องโดยเฉพาะในกลุ่มของเกษตร เช่น การขาดแคลนที่ทำกินหรือปัญหาในพื้นที่พรุซึ่งมีน้ำขังอยู่ตลอดปี แม้สามารถทำให้น้ำแห้งได้ ดินในพื้นที่เหล่านั้นก็ยังเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำการเกษตรได้ผลน้อยไม่คุ้มทุนพระองค์ทรงตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ว่ามีความจำนงเร่งด่วนที่จะต้องพระราชทานความช่วยเหลือ ดังจะเห็นได้จากความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสต่อไปนี้
          “ ..ที่ที่น้ำท่วมนี่หาประโยชน์ไม่ได้ถ้าเราจะทำให้มันโผล่พ้นน้ำขึ้นมา มีการระบายน้ำออกไป ก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชนในเรื่องของการทำมาหากินอย่างมหาศาล..”
          พระองค์ทรงมอบให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุซึ่งมีน้ำแช่ขังอยู่ตลอดปี มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำเกษตรให้ได้มากที่สุด โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศของป่าพรุด้วย
          การที่ดินในป่าพรุเป็นดินเปรี้ยวจัดก็เพราะ ดินเหล่านี้เป็นดินที่มีอินทรียวัตถุคือรากพืชเน่าเปื่อยอยู่ข้างบน และในระดับความลึกประมาณ 1-2 เมตร มีลักษณะเป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงินซึ่งมีสารประกอบไพไรต์หรือกำมะถันอยู่มาก ดังนั้น เมื่อดินแห้ง กรดกำมะถันก็จะทำปฏิกิริยากัอากาศทำให้แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัดพระองค์จึงมีพระราชประสงค์จะแก้ไขปัญหานี้ให้กับราษฎร
          เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริ อันเป็นต้นกำเนิดของโครงการ แกล้งดิน ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ความว่า “..ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้งและศึกษาวิธีการแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด 2 ปี ..”
          โครงการ “ แกล้งดิน” จึงกำเนิดขึ้นโดยมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เป็นหน่วยดำเนินการสนองพระราชดำริ เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดินกำมะถัน

ทฤษฎี "แกล้งดิน" อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาส ในปี .. 2524 ทรงพบว่า หลังจากมีการชักน้ำออกจากพื้นที่พรุเพื่อจะได้มีพื้นที่ใช้ทำการเกษตรและเป็นการบรรเทาอุทกภัยนั้น ปรากฎว่าดินในพื้นที่พรุแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล จึงมีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่าง พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปีให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุดและให้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ด้วยการแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เนื่องจากดินมีลักษณะเป็นเศษอินทรีย์วัตถุหรือซากพืชเน่าเปื่อย อยู่ข้างบนและมีระดับความลึก 1-2 เมตรเป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงิน ซึ่งมีสารประกอบกำมะถัน ที่เรียกว่า สารประกอบไพไรท์ (Pyrite : FeS2) อยู่มาก ดังนั้นเมื่อดินแห้ง สารไพไรท์จะทำปฏิกิริยากับอากาศปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินแปรสภาพเป็นดินกรดจัดหรือเปรี้ยวจัด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริโครงการ "แกล้งดิน" เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน เริ่มจากวิธีการ "แกล้งดินให้เปรี้ยว" ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น "แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด" จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้