เหตุผลสำคัญคือคำว่า “พอเพียง” ซึ่งบางคนตีความว่าหมายถึงหลักปรัชญาที่คับแคบซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยย้อนกลับไปสู่ยุคหิน
บางทีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอาจจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางไปทั่วโลกถ้าหากมันถูกเปลี่ยนชื่อเป็นหลักปรัชญา “เศรษฐกิจยั่งยืน”
ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ได้รับการยอมรับหลายท่าน รวมถึงนาย Peter Warr แห่ง Australian National University ได้ศึกษาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างละเอียดมาเป็นเวลาหลายปี
นาย Warr ได้ยกพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2542 ว่า
นาย Warr ได้ยกพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2542 ว่า
“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักปรัชญาที่เน้นการจัดการอย่างเหมาะสมและการดำเนินชีวิตอย่างพอประมาณโดยพิจารณาแนวทางการจัดการทั้งหมด และความจำเป็น ที่จะต้องมีการป้องกันแรงกระทบทั้งภายในและภายนอกอย่างเพียงพอ”
ในบทความของนาย Warr ซึ่งตีพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้ใน GH Bank Housing Journal เขาได้กล่าวว่ามี “หลักการสำคัญห้าประการ” จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
“ได้แก่ ความสำคัญในการกำหนดเป้าหมายสำคัญอย่างสมเหตุสมผลและเหมาะสม (มีเหตุมีผล) ความสำคัญของการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นในการดำเนินตามเป้าหมาย (พอประมาณ) ความพอใจยินดีที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง (มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี) ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีความตระหนักถึงการปกป้องตนเองจากสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจมีการผันแปรไป (ความรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง) และมีการตระหนักรู้ถึงการใช้ชีวิตที่ไม่ยึดติดกับวัตถุ (คุณธรรม)”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้แสดงให้เห็นถึงแต่ละหลักการทั้งห้าดังกล่าว ซึ่งความสัมพันธ์กันในหลักการทั้งห้าของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถทำความเข้าใจได้ในหลายระดับ ในระดับปัจเจกบุคคล หลักการทั้งห้าให้แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินชีวิตโดยประหยัดซึ่งก็จะมีผลดีต่อระดับชุมชนและองค์กร สำหรับในระดับประเทศหลักการทั้งห้าก็มีความสัมพันธ์อย่างมากกับการบริหารประเทศในการปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสว่า ความพอเพียงหมายถึงการมีอย่างเพียงพอที่จะใช้ในการดำเนินชีวิต ความพอเพียงยังหมายถึงการดำเนินชีวิตอย่างสุขสบายอย่างพอประมาณ ไม่มากเกินไป หรือไม่ตามใจตัวเองในสิ่งฟุ่มเฟือยมากเกินไป โดยบางสิ่งที่อาจดูเหมือนฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อแต่หากนำมาซึ่งความสุขก็อาจจะยอมรับได้ เมื่อเป็นการทำในระดับปัจเจกบุคคล
บทวิจารณ์เกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในช่วงแรกหลายบทวิจารณ์เข้าใจว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่คล้ายคลึงกับแนวทางพระราชดำริซึ่งทรงแนะนำให้กับเกษตรกรที่เรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” ผู้สังเกตการณ์บางคนเริ่มที่จะคิดว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งเน้นที่จะย้อนกลับไปใช้ชีวิตแบบพอเพียง แบบเกษตรกร และดำรงชีพโดยใช้เฉพาะแต่สิ่งที่จำเป็น
และแล้วเมื่อเวลาผ่านไปหลายคนก็ได้เริ่มตระหนักว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งเน้นการปฏิบัติอย่างพอดีพอประมาณตามหลักการห้าข้อดังกล่าวข้างต้น โดยสามารถนำไปใช้ได้ทั้งบุคคลที่มีอาชีพต่างๆ องค์กร บริษัท หน่วยงาน จนถึงระดับรัฐบาล
แปลจากบทความ “Sufficiency economy may mean sustainable economy”
ของ ”K I Woo” ใน The Nation ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม 2552
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น