วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ตามความเข้าใจโดยทั่วไปคำว่า “ประชาธิปไตย” หมายถึง ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจหรืออำนาจของประชาชน ประเด็นหลักของประชาธิปไตย อยู่ที่ประชาชนเป็นสำคัญ จะปกครองอย่างไรให้ประชาชนมีความสุข เสมอภาคเท่าเทียม และมีเสรีภาพ ซึ่งพอจะสรุปได้เป็น 3 ลักษณะ คือ ประชาธิปไตยในฐานะเป็นอุดมการณ์โดยยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย คือ ความเสมอภาคในทางการเมือง เศรษฐกิจ มีความเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพ และได้รับความเป็นธรรม ตามขอบเขตของกฎหมายโดยไม่เลือกการปฏิบัติ ยอมรับเสียงส่วนใหญ่และเคารพเสียงส่วนน้อย โดยอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทุกภาคส่วน สามารถแสดงออกตามสิทธิ์ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐาน สามารถใช้เป็นรูปแบบการปกครอง และแบบแผนในการดำเนินชีวิตกลายเป็นวัฒนธรรมสืบเนื่องเป็นบรรทัดฐานและวิถีชีวิตของประชาชนโดยส่วนรวม

ในบรรดาประเทศต่างๆ ในโลกที่มีการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์ทั้งหมดประมาณ 29 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีคำใช้เรียกแทนองค์พระมหากษัตริย์แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะ วัฒนธรรม ประเพณีของชาตินั้นๆ แต่คำแทนองค์พระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งบ่งบอกถึงลักษณะหน้าที่แบบต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้สรุปจำแนกได้ 5 ลักษณะ คือ

1. พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมาจากคำว่า พระเจ้า (เทพเจ้า) กับคำว่า อยู่หัว (ผู้นำ…หัวหน้า) หมายความว่า พระเจ้าอยู่หัว ทรงมีภาระหน้าที่ของการเป็นผู้นำหรือประมุขของประเทศชาติและประชาชน

2. พระเจ้าแผ่นดิน หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าของแผ่นดินทั้งประเทศ แล้วพระราชทานสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นให้แก่ประชาชน และถือว่าเป็นหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินที่จะต้องรักษาความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินด้วย จะเห็นว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงต้องมีพระราชภาระหน้าที่ จะต้องทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ประเทศชาติและประชาชน

3. เจ้าชีวิต หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าชีวิตของประชาชน กล่าวคือ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะประหารชีวิต และพระราชทานอภัยโทษจากการประหารชีวิตแก่ประชาชนได้ อันหมายความว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีหน้าที่ ที่จะต้องคุ้มครองชีวิตของประชาชน และจะต้องรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศไว้

4. ธรรมราชา หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้รักษาธรรม และปฏิบัติธรรม และด้วยหลักธรรมนี้ ทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในประเทศ กล่าวคือ พระมหากษัตริย์จะต้องทรงใช้หลักธรรมเป็นแบบแผนในการปกครองประเทศชาติและประชาชน หรืออีกนัยหนึ่ง คือ พระราชดำริและพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ จะต้องอยู่ในกรอบของหลักธรรมเท่านั้น

5. พระมหากษัตริย์ หมายความว่า การเป็นนักรบ หรือจอมทัพที่ยิ่งใหญ่ในยามสงครามที่จะต้องมีป้องกันประเทศ พระมหากษัตริย์จะต้องเป็นผู้นำทางการทหารออกรบ เพื่อปกป้องคุ้มครองเอกราชของประเทศและประชาชน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พระมหากษัตริย์ทรงมีหน้าที่ที่จะต้องให้ความคุ้มครองปลอดภัยแก่ประเทศชาติ และประชาชน

สิทธิและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทย ตามตำราการเมืองและการปกครองไทยที่ใช้สอนกันมาในสถาบันการศึกษาต่างๆ และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 พอสรุปเป็นสังเขปว่า
สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันเก่าแก่ที่อยู่คู่กับชาติไทยตลอดมานับตั้งแต่ไทยเริ่มสร้างตนเป็นชาติขึ้นมา เป็นสถาบันที่เลื่อมใสศรัทธาและฝังแน่นอยู่ในความรู้สึกของประชาชนคนไทย แทบทุกคนมาเป็นเวลาหลายร้อยปี บทบาทของพระมหากษัตริย์เปลี่ยนไปตามยุคสมัย รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชน ผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงเป็นศูนย์รวมที่ก่อให้เกิดความสามัคคีของชนในชาติไม่ว่าจะเชื้อชาติใดและศาสนาใด พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ไม่ต้องรับผิดชอบในกิจกรรมการเมืองต่างๆ แม้ว่าจะกระทำในพระปรมาภิไธย ทรงวางพระองค์เป็นกลางทางการเมืองเสมอมา ทรงมีสิทธิที่จะให้คำเตือนในบางเรื่องบางกรณี แก่รัฐบาล รัฐสภาและศาล หรือองค์กรอื่นๆ ที่ทรงเห็นว่าถ้ากระทำไปแล้วจะเกิดผลเสียหาย ในฐานะที่ทรงดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศจึงถือว่าเป็นสิทธิของพระมหากษัตริย์ที่จะได้รับรายงานให้ทราบถึงสถานการณ์หรือเรื่องราวบางเรื่องที่มีความสำคัญกับบ้านเมือง สิทธิ์ที่จะพระราชทานคำปรึกษาหารือ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน นำปัญหาขึ้นทูลเกล้าฯ สิทธิ์ที่จะสนับสนุนการกระทำหรือกิจการใดๆ ของรัฐหรือเอกชนได้ หากพระองค์ทรงเห็นว่ากิจการนั้นๆ เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง เช่น โครงการตามพระราชดำริต่างๆ นอกจากนั้นยังทรงมีพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และลงพระปรมาภิไธย ในร่างกฎหมายประเภทต่างๆ เป็นต้น

พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ แม้ว่ามิได้ทรงมีพระราชอำนาจโดยตรงอย่างแท้จริงในกิจกรรมการเมืองการปกครอง แต่ความสำคัญและประโยชน์ที่ได้รับจากพระมหากษัตริย์ มีนับเป็นอเนกประการ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของประเทศ แผ่พระบารมีให้มีความร่มเย็นแก่อาณาประชาราษฎร์และชนต่างชาติที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทรงเป็นศูนย์กลางแห่งเกียรติยศ และพระมหากรุณาธิคุณ ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน

ไม่มีความคิดเห็น: