วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การประยุกต์ใช้ความรู้

การประยุกต์ใช้เทคนิควิทยา ก็มีลักษณะไม่แตกต่างไปจากการประยุกต์ใช้ความรู้ทั่วไปนั่นคือ วิทยาการและเครื่องมือกลเหล่านี้ เมื่อนำมาปฏิบัติการแล้ว จะต้องได้ผลอย่างสูงทุกครั้งไป คือถ้าใช้ถูก ก็ทำให้ได้ประโยชน์มาก ถ้าใช้ไม่ถูก ก็ทำให้เสียหายได้มากเท่าๆกัน (๑เมษายน ๒๕๒๕)
การประยุกต์ที่ได้ผล ก็คือ การพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะทำการใดๆ
 ทางแห่งความเจริญ คือ การพิจารณา การพิจารณานั้น เป็นการหยุดยั้งชังใจก่อนที่จะปฏิบัติการใดลงไปเสมือนกับได้ปรึกษากับตนเองก่อนถ้าหากทำสิ่งใดโดยมิได้พิจารณาแล้ว ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อแห่งอารมณ์ บังเกิดความประมาทขึ้น อันจะเป็นผลเสียหายแก่กิจการนั้นๆ ได้ ฉะนั้น ขอให้ทุกคนจงใช้ความพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนที่จะประกอบกิจใดๆ (๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑)

แม้ว่า การพิจารณาเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงให้พระบรมราโชวาทเพิ่มเติมว่า เพื่อให้บังเกิดผลที่แท้จริง การพิจารณาก็ต้องกระทำในลักษณะหนึ่ง ดังมีรายละเอียดแสดงไว้ในพระราชดำรัสบางส่วนที่ทรงพระราชทานให้แก่ สามัคคีสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการเปิดประชุมใหญ่ปี ๒๕๒๓ เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๒๓ ดังนี้

การพิจารณาเรื่องราวหรือกิจการงานใดๆ นั้น ควรอย่างยิ่งที่จะต้องกระทำโดยละเอียดรอบคอบและเที่ยงตรงถูกต้องจึงจะได้ผลที่เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืนถาวร ท่านผู้รู้แต่ก่อนได้วางหลักสั่งสอนกันสืบๆ มาว่า เมื่อจะพิจารณาสิ่งใดเรื่องใดให้วางใจของตัวให้เป็นกลาง คือปลด อคติความลำเอียงทุกๆ ประการออกจากใจให้หมดก่อน แล้วเข้าไปเพ่งพินิจดูสิ่งนั้นเรื่องนั้นให้ถี่ถ้วน จึงจะมองเห็นได้ประจักษ์ทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เห็นแต่เพียง
แง่ใดแง่หนึ่งตามความชอบใจหรือไม่ชอบใจที่มีอยู่ เมื่อเห็นประจักษ์ทั่วด้วยใจที่เป็นกลางแล้ว ความรู้ที่ชัดเจนก็จะบังเกิดขึ้น และช่วยให้ลงความเห็นและปฏิบัติได้โดยถูกต้องเป็นธรรม...”

ไม่มีความคิดเห็น: