วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สถาบันพระมหากษัตริย์กับความมั่นคงของชาติ(1)

การพูดถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กับความมั่นคงของชาติ จำเป็นจะต้องกล่าวถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย การกล่าวอ้างประวัติศาสตร์มักจะมีข้อโต้แย้งมากมาย ต่างฝ่ายต่างอ้างข้อมูลข้อเท็จจริงที่ตัวเองได้รับมาทั้งที่ไม่มีผู้ใดรู้เห็นด้วยตา เพราะเกิดไม่ทันในยุคนั้นๆ ต่างตีความและวิเคราะห์ตามความรู้และความคิดของตน พร้อมกับทึกทักเอาว่าสิ่งที่ตนได้รับรู้มานั้นเป็นความจริง ซึ่งเรื่องนี้มีศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ได้กล่าวไว้ว่า การศึกษาประวัติศาสต์ก็คือการศึกษาถึงเศษซากที่หลงเหลืออยู่และมีผู้ค้นพบ และมีการตีความตามทัศนคติและความรู้ของผู้ค้นพบ นอกจากนั้นประวัติศาสตร์แต่ละเรื่องยังขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้เขียนบันทึก และขึ้นอยู่กับว่าเป็นมุมมองของฝ่ายใด ฝ่ายแพ้ หรือฝ่ายชนะ ซึ่งจะบันทึกแตกต่างกัน ดังนั้นผู้อ่านจะต้องใช้วิจารณญาณในการศึกษาประวัติศาสตร์ควบคู่ไปด้วย
ประเทศไทยมีกษัตริย์ปกครองและเป็นประมุขของประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ก.สมัยก่อนกรุงสุโขทัย
นับแต่อาณาจักรไทยอ้ายลาวล่มสลาย เมื่อปี พ.ศ. 1190 โดยถูกโจมตีด้วยกำลังทหารและอาวุธจากจีน ผู้คนได้แตกฉานซ่านเซ็นไปคนละทิศละทาง บางกลุ่มมุ่งลงมาทางใต้ และบางส่วนหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ ช่วงนี้ได้ปรากฎพระนามกษัตริย์องค์แรก คือ พระเจ้าสีนุโล ได้รวบรวมผู้คนที่กระจัดกระจายตั้งเป้นอาณาจักรชั่วคราว ไม่มีชื่อแน่ชัด มีเมืองหว้าติงเป็นราชธานี ต่อจากนั้นในปี พ.ศ. 1291 พระเจ้าโก๊ะล่อฝง ได้สถาปนาเป็นอาณาจักน่านเจ้า ย้ายราชธานีจากหว้าติงมาอยู่ที่เมืองตาลีฟู หรือเมืองหนองแส (ปัจจุบันตาลีฟูคือเมืองต้าหลี้ และทะเลสาบหนองแสคือทะเลสาบเหอไอ่ อยู่ในมณฑลยูนนาน) อาณาจักร น่านเจ้า มีอายุยืนยาวได้ 536 ปี ในปี พ.ศ. 1827 ก็ถูกกุ๊บไลข่าน กษัตริย์จีนใช้กำลังเข้าโจมตีอาณาจักรน่านเจ้าล่มสลายไป
ส่วนพวกที่อพยพลงมาทางใต้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือไทยใหญ่และไทยน้อย พวกไทยใหญ่อพยพมาตามแม่น้ำสาละวิน ได้จัดตั้งอาณาจักรสิบเก้าเจ้าฟ้า คนกลุ่มนี้ปัจจุบันคือไทยอาหมอยู่ในรัฐอัสสัมของอินเดีย และคนไทยใหญ่ในรัฐฉานประเทศพม่า มีเมืองเชียงตุงเป็นเมืองหลวง ส่วนพวกไทยน้อยอพยพมาตามแม่น้ำโขง มาตั้งอาณาจักรสิบสองจุไท มีพ่อขุนบรมเป็นกษัตริย์ปกครอง เนื่องจากพ่อขุนบรมมีโอรสหลายคน จำเป็นต้องแสวงหาดินแดนและสร้างอาณาจักรเพิ่มเติมอีก4 อาณาจักร คือ สิบสองพันนา โยนก หรือล้านนา ล้านช้าง และหัวพันทั้งห้าทั้งหก รวมสิบสองจุไทเป็น 5 อาณาจักร อาณาจักรล้านช้าง เมืองหลวงคือเวียงจันทร์ (กรุงศรีสัตนาคนหุต) ได้แก่ดินแดนลาว และภาคอีสานตอนบนของไทยในปัจจุบัน (ส่วนอีสานตอนล่างเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขแมร์) อาณาจักรโยนกหรือล้านนาเมืองหลวงคือเชียงแสน ได้แก่ดินแดนภาคเหนือตอนบนของไทยในปัจจุบัน ส่วนอาณาจักรสิบสองพันนาอยู่ในมณฑลยูนานของจีน อาณาจักรสิบสองจุไทอยู่แถวเมืองเดียนเบียนฟู และหัวพันทั้งห้าและทั้งหกอยู่บริเวณตอนเหนือของเวียดนามบริเวณอ่าวตังเกี๋ยซึ่งมีคนไทยดำอาศัยอยู่
หลังจากพระเจ้าพรหมได้ขับไล่อิทธิพลขอมออกจากเชียงแสนได้สำเร็จ ก็ยกราชธานีเชียงแสนให้พระราชบิดา คือ พระเจ้าภังคราชปกครอง ส่วนพระองค์ก็ได้พาผู้คนจำนวนหนึ่งไปสร้างเมืองไชยปราการ (อ. ไชยปราการ จ. เชียงใหม่) พระเจ้าพรหมเป็นต้นราชวงศ์เชียงราย (พระเจ้าอู่ทองผู้ส้รางกรุงศรีอยุธยา สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์นี้) ต่อมาในสมัยพระเจ้าไชยศิริ ได้ถูกพม่ายกทัพมาตีเมืองไชยปราการแตก พระเจ้าไชยศิริจึงอพยพผู้คนลงมาทางใต้ และตั้งเมืองชั่วคราวที่เมืองแปปจังหวัด กำแพงเพชร จากนั้นก็ย้ายมาตั้งเมืองไตรตรึงษ์ ที่ อ. สรรค์ จังหวัดชัยนาทและ ย้ายมาตั้งเมืองถาวรที่เมืองนครปฐม หรือเมืองศิริชัยบุรี หรือ เมืองนครชัยศรี ในที่สุด และมีคนไทยกลุ่มหนึ่งได้แยกตัวไปตั้งเมืองบางยาง (อ. นครไทย จ. พิษณุโลก) มีพ่อขุนบางกลางท่าว เป็นหัวหน้า ได้ร่วมกับพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด (อ.หล่มสัก จ. เพชรบูรณ์) ซึ่งเป็นพระสหายและญาติกัน เข้ายึดเมืองสุโขทัยจากขอมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไว้ได้ และได้สถาปนากรุงสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานีเมื่อปี พ.ศ. 1781
ข.สมัยสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พ่อขุนบางกลางท่าว)ทรงสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 1781 กษัตริย์ที่ปกครองเรียกว่าราชวงศ์พระร่วง มีทั้งหมด 6 พระองค์ คือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนบาลเมือง พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พญาเลอไท พญาลิไท และพญาไสลือไท
ค. สมัยอยุธยา พระเจ้าอู่ทอง ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 1893 มีกษัตริย์ปกครอง 5 ราชวงศ์ คือ
1. ราชวงศ์อู่ทอง มีกษัตริย์ปกครอง 3 พระองค์ คือ พระเจ้าอู่ทอง (พระรามาธิบดีที่1) พระราเมศวร และพระรามราชาธิราช
2. ราชวงศ์สุพรรณภูมิ มีกษัตริย์ปกครอง 13 พระองค์ คือพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพระงั่ว) พระเจ้าทองลัน พระอินทราชา พระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) พระบรมไตรโลกนาถ พระบรมราชาธิราชที่ 3 พระรามาธิบดีที่ 2 พระบรมราชาธิราชที่ 4 พระรัฎฐาธิราชกุมาร พระไชยราชาธิราช พระยอดฟ้า พระมหาจักรพรรดิ (พระเธียรราชา) และพระมหินทราธิราช (เสียกรุงครั้งที่ 1 ในปีพ.ศ. 2112)
3. ราชวงศ์สุโขทัย มีกษัตริย์ปกครอง 7พระองค์ คือ พระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ทรงกอบกู้เอกราชเมื่อปี พ.ศ. 2127)พระเอกาทศรถ เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ พระเจ้าทรงธรรม พระเชษฐาธิราช และพระอาทิตย์วงศ์
4. ราชวงศ์ปราสาททอง มีกษัตริย์ปกครอง 4 พระองค์ พระเจ้าปราสาททอง เจ้าฟ้าไชย พระศรีสุธรรมราชา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
5. ราชวงศ์พูลหลวง มีกษัตริย์ปกครอง 6 พระองค์ คือพระเพทราชา พระเจ้าเสือ (ขุนหลวงสรศักดิ์) พระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระเจ้าอุทุมพร และพระเจ้าเอกทัศ (เสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310)
ง. สมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แห่งราชวงศ์ตากสิน ทรงกอบกู้เอกราช และสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีเมื่อปี พ.ศ. 2310
จ. สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกต้นราชวงศ์จักรี ทรงสถาปนากรุงเทพฯเป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2325
พระมหากษัตริย์เป็นผู้สร้างแผ่นดินและเป็ยนเจ้าของแผ่นดิน
จากประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ว่าเรามีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องกันมาเป็นเวลามากกว่า 1,300 ปี กษัตริย์แต่ละพระองค์ได้สร้างชาติและแผ่นดิน ต้องรักษาชาติและแผ่นดินโดยเอาชีวิตเลือดเนื้อเข้าแลกอยู่ตลอดเวลา หลายครั้งเราต้องสูญเสียแผ่นดิน โดยเฉพาะในสมัยอยุธยา เราต้องเสียแผ่นดินถึง 2 ครั้ง ในสมัยพระมหินทราธิราช กษัตริย์องค์ที่ 13 ของราชวงศ์สุพรรณภูมิ และในสมัยพระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์องค์ที่ 6 ของ ราชวงศ์ พูลหลวง บางครั้งแผ่นดินของเราก็กว้างใหญ่ไพศาล ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงแห่งราชวงศ์พระร่วง สามารถขยายแผ่นดินทางด้านทิศใต้จนจดแหลมมลายู ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงขยายแผ่นดินทางด้านทิศเหนือจดแผ่นดินจีน จนกล่าวได้ว่า ในยุคนี้แผ่นดินไทยกว้างใหญ่ไพศาลที่สุดกว่ายุคใดๆ
ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ได้ออกทำศึกร่วมกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ปราบชุมนุมเจ้าพิมาย เจ้าพระฝาง และเป็นแม่ทัพตีเมืองต่างๆ เพื่อปกป้องและขยายพระราชอาณาเขตถึง 11 ครั้งดังนี้
ครั้งที่ 1 เป็นแม่ทัพปราบชุมนุมเจ้าพิมาย และตีเมืองเสียมราฐ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์
ครั้งที่ 2 เป็นแม่ทัพไปตีเมืองเขมร่ ได้เมืองพะตะบองเพิ่ม
ครั้งที่ 3 ตามเสด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง ที่เมืองสวางคบุรี ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยายมราช
ครั้งที่ 4 เป็นแม่ทัพไปตีเมืองเขมร ได้เมืองบันทายเพชร บันทายมาตร เมืองบาพนม และเมืองโพธิสัด ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาจักรี
ครั้งที่ 5 ปี พ.ศ. 2317 เป็นแม่ทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และน่าน ซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2101 จนถึงปี พ.ศ. 2317 รวมเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นพม่าถึง 216 ปี
ครั้งที่ 6 พม่ายกทัพมาตีเมืองราชบุรี เป็นแม่ทัพตีพม่าแตกพ่ายไป
ครั้งที่ 7 พม่ายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ เป็นแม่ทัพยกกำลังไปช่วยพม่ารู้จึงถอยทัพกลับ
ครั้งที่ 8 ปี พ.ศ. 2318 อะแซหวุ่นกี้ยกทัพใหญ่เข้ามาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ เจ้าพระยาจักรี (พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) อยู่ที่เชียงใหม่ เป็นแม่ทัพยกกำลังมาตั้งรับที่พิษณุโลก พม่าเข้าตีหลายครั้งก็ไม่สามารถยึดเมืองได้ ต้องยกทัพกลับ ก่อนยกทัพกลับได้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรีและทำนายว่าเจ้าพระยาจักรีจะต้องเป็นกษัตริย์ในอนาคต
ครั้งที่ 9 ปี พ.ศ. 2319 เป็นแม่ทัพไปตีเมืองลาวภาคตะวันออกได้เมืองจำปาศักดิ์ ศรีทันดร อัตปือ และตีเมืองเขมร ได้เมืองสุรินทร์ ตะลุง เมืองสังข์ และเมืองขุขัณฑ์ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
ครั้งที่ 10 ปี พ.ศ. 2324 เป็นแม่ทัพไปปราบกรุงศรีสัตนาคนหุต ได้เมืองเวียงจันทร์พร้อมเมืองขึ้น และเมืองหลวงพระบาง ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย
ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2324 เป็นแม่ทัพไปปราบเขมร ซึ่งแข็งเมืองได้สำเร็จ พอกลับจากเขมร ราษฎรก็พร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เนื่องจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สติฟั่นเฟือน ข้าราชบริพารจึงจับพระองค์ไว้รอการพิจารณาโทษตามกฎมณเฑียรบาล (เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาที่จะต้องพิสูจณ์ มีหลายคนเชื่อว่าพระเจ้าตากสิน มิได้ถูกประหารชีวิตด้วยท่อนจัน แต่ได้หลบหนีไปพำนักอยู่ที่วัดขุนพนม อ. พรมคีรี จ. นครศรีธรรมราช สอดคล้องกับประวัติศาสตร์พื้นบ้านของนครศรีธรรมราช ซึ่งมีสถานที่และหลักฐานต่างๆ ประกอบ)
รวมแผ่นดินที่ทั้ง 2 พระองค์ทรงสร้างไว้เป็นพื้นที่ทั้งสิ้นมากกว่า 1 ล้าน 3 แสนตารางกิโลเมตร แต่ในที่สุดเราก็ต้องทยอยเสียดินแดนให้กับอังกฤษและฝรั่งเศส รวม 13 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 1 เกาะหมาก หรือปีนัง
ครั้งที่ 2 มะริด ทวาย ตะนาวศรี
ครั้งที่ 3 รัฐเปอร์ลิส
ครั้งที่ 4 เมืองบันทายมาตร หรือ ฮาเตียน ในปี พ.ศ. 2406 สมัยรัชกาลที่ 4
ครั้งที่ 5 เขมร่ส่วนนอก (บันทายเพชร บาพนม โพธิสัด) ในปี พ.ศ. 2410
ครั้งที่ 6 สิบสองพันนา
ครั้งที่ 7 สิบสองจุไท ในปี พ.ศ. 2431 สมัยรัชกาลที่ 5
ครั้งที่ 8 แสนหวี-เชียงตุง ในปี พ.ศ. 2435
ครั้งที่ 9 แม่น้ำสาละวินฝั่งซ้าย
ครั้งที่ 10 แม่น้ำโขงฝั่งซ้าย (ลาว) ในปี พ.ศ. 2436
ครั้งที่ 11 แม่น้ำโขงฝั่งขวา (แขวงไชยบุรี- ปากลาย) ในปี พ.ศ.2450
ครั้งที่ 12 มณฑลบูรพา(เสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ)ในปี พ.ศ. 2450
ครั้งที่ 13 กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ในปี พ.ศ. 2452
รวมแผ่นดินไทยเสียไปประมาณ 8 แสนตารางกิโลเมตร คงเหลือพื้นที่ในปัจจุบัน 513,116 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก
จากประวัติศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ชัดว่า ผู้ที่สร้างแผ่นดินไทยและขยายอาณาเขตของประเทศให้กว้างใหญ่ไพศาลล้วนเป็นพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น ดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงเป็นเจ้าของแผ่นดินโดยแท้จริง จึงมีการขนานนามพระมหากษัตริย์ว่า พระเจ้าแผ่นดินอีกพระนามหนึ่ง

พล.ต.ต. สุเทพ สุขสงวน

ไม่มีความคิดเห็น: