วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พระราชอำนาจกับระบอบประชาธิปไตยไทย


บทสัมภาษณ์  จากมติชนสุดสัปดาห์ ลึกจากใจภักดิ์ “อานันท์   ปันยารชุน”

            ความเคร่งครัดและข้อปฏิบัติตามธรรมเนียมของราชสำนักกว่า 770 ปี ถูกจัดวางควบคู่กับความก้าวหน้าแห่งหลักประชาธิปไตยในช่วง 77 ปี
            การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถูกถ่ายทอดผ่านการรับสนองพระราชโองการ ของประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ
            นายอานันท์  ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เคยรับสนองพระบรมราชโองการ 2 สมัย สังเคราะห์การใช้อำนาจ  ภายใต้พระราชอำนาจแห่งระบอบกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ ในยุคความขัดแย้งลงลึกถึงรากหญ้า
            ระบอบการปกครองของไทยตั้งแต่ พ.ศ.2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เรามีเวลา 75 ปี จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ใช้ทศพิธราชธรรมปกครอง ซึ่งผมถือว่าเป็นหลักธรรมาภิบาลของไทยอย่างแท้จริง การใช้อำนาจท่านทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม 10 ข้อ เป็นการจำกัดอำนาจของท่านโดยทางอ้อม คือท่านจำกัดอำนาจของท่านเอง
            อดีตนายกรัฐมนตรี เรียบเรียง-ลำดับพัฒนาการแห่ง เสาหลักประชาธิปไตย” ว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2475-2552 ประเทศไทยให้ความสำคัญ หมกหมุ่นกับเรื่องรัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้งค่อนข้างมากเกินไป โดยไม่เหลียวแลเลยว่าเสาหลักประชาธิปไตยอื่นๆ เช่น ความเป็นอิสระของสื่อ ความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรม หลักในเรื่องนิติรัฐหรือนิตธรรม ความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน (Accountability)
            เราสร้างบ้านประชาธิปไตย แต่เราไม่ได้ดูแลเสาเอก แทนที่จะเริ่มสร้างด้วยเสาไม้สัก ของเราเป็นไม้ไผ่ นี่คือจุดอ่อนของวิวัฒนาการระบอบประชาธิปไตย
            พอเราเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบุรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยก็ปรากฏว่า ไปผ่องถ่ายอำนาจมาจากพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ได้ตกถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง ไปตกอยู่ในผู้ก่อการ-ทหาร-ข้าราชการ-พลเรือน-นักการเมือง และนักธุรกิจการเมือง
            ระบอบกษัตริย์อยู่มาประมาณ 770 ปีแล้ว แต่เป็นระบอบกษัตริย์ที่มีอำนาจโดยสมบูรณ์ภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ แต่ระบอบกษัตริย์เป็นหลักใหญ่นะ ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยนะ
            ผมก็คิดว่า ปัจจุบันนี้ระบอบพระมหากษัตริย์ก็ยังเป็นระบอบที่คนไทยส่วนใหญ่ยังอยากให้คงไว้ ซึ่งระบอบนี้ คนไม่เห็นด้วยอาจจะมี และผมคิดว่า  คนไทยก็ต้องใจกว้างพอนะตราบใดที่ไม่ได้พูดจาถล่มทลายระบอบนี้ หรือทำลายสถาบันโดยวิธีการที่ผิดรัฐธรรมนูญ

            คำว่า พระราชอำนาจ จึงครอบคลุมความหมายกว้างกว่าคำที่บัญญัติตามรัฐธรรมนูญ
            เพราะแม้แต่พระราชอำนาจที่ผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ ผ่านฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ที่ใช้อำนาจเองไม่มีเลย ทุกครั้งก็ต้องมีคนรับสนองพระบรมราชโองการ ท่านมีเพียงแต่ลงพระปรมาภิไธย
            พระราชอำนาจ ซึ่งเป็นสิทธิของท่าน มีอำนาจที่จะพระราชทานคำปรึกษา อำนาจในการที่จะเตือนสติ มีอำนาจที่จะให้กำลังใจ มี 3 พระราชอำนาจเท่านั้น ซึ่งคุณจะเขียนรัฐธรรมนูญมาอย่างไรก็แล้วแต่
            การใช้พระราชอำนาจผ่านหัวหน้าฝ่ายบริหารที่ อานันท์ มีประสบการณ์โดยตรงมีธรรมเนียมปฏิบัติ ที่ชัดเจน
            ถ้าจะให้ท่านลงพระปรมาภิไธย เรื่องแต่ละเรื่องนั้น ท่านก็ต้องทราบที่มาที่ไป เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องเข้าเฝ้าฯเป็นการส่วนพระองค์ เป็นหน้าที่ที่เรียกว่า ถวายงาน อย่างเช่น มีพระราชบัญญัติสำคัญ ก็ต้องไปกราบบังคมทูลท่านว่ามีจำนงอย่างไร จะมีผลบังคับใช้ในทางใด หรือถ้าเป็นงานบริหารจะมีโครงการอะไร อย่างสร้างเขื่อนที่ไหน ต้องไปกราบบังคมทูลรายงานท่าน ระหว่างรายงานท่านก็ไปขอคำปรึกษาท่านด้วย ถ้าไม่ไปถามท่านท่านก็ไม่ให้นะ
            พระองค์มีพระราชอำนาจที่จะพระราชทานคำปรึกษา คือต้องมีคนไปรายงาน และไปถามความเห็นก่อน ท่านถึงจะพระราชทานคำปรึกษาแต่ไม่ใช่ว่าเป็นลักษณะที่เอาอันนั้น ไม่เอาอันนี้ไม่ใช่นะ เป็นการคุยกันเพื่อให้ทราบถึงเรื่องว่ามันเกิดขึ้นมาเพราะอะไร ผลจะเป็นอย่างไร ระหว่างนั้นท่านอาจเตือนสติบางอย่าง ท่านอาจให้กำลังใจ
            ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงต้องเคร่งครัดระมัดระวังไม่ให้เกิดการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท
            ลักษณะของการเข้าเฝ้าฯ เมื่อสนทนากันเสร็จแล้วนายกฯ ไม่ออกมาพูดในที่สาธารณะ เพราะถ้าถ่ายทอดมาผิด พระองค์ท่านเสียนะ แล้วพวกท่านมาปฏิเสธก็ไม่ได้ นายกฯบางคนก่อนเข้าเฝ้าฯ ก็บอกว่าจะไปเรื่องอะไร ออกมายังพูดต่ออีก แล้วพูดผิดด้วย จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ก็จะทำให้สถานะของพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องของการอยู่เหนือการเมืองก็ดี เหนือความขัดแย้งก็ดี ทำให้พระองค์ท่านอยู่ในฐานะลำบาก
            จะมาบอกว่า ท่านเห็นด้วยกับเรื่องนี้ จะเห็นด้วยหรือไม่ คนที่ไปเข้าเฝ้าฯไม่มีสิทธิมาพูด และการสนทนาระหว่างพระเจ้าอยู่หัวกับนายกรัฐมนตรีประมาณ 80%จะหายไป ระหว่างนั้นก็ไม่มีการจดบันทึก นายกฯก็ไม่มีสิทธิจะพูดนอกจากพระราชบัญญัติที่จะเสนอขึ้นไป ก็อาจจะนำมาเล่ากับรัฐมนตรีบางคนเท่านั้น
            การเป็นนายกรัฐมนตรีต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะการเข้าเฝ้าฯ อย่ามาใช้ประโยชน์จากการเข้าเฝ้าฯ และอย่าทำให้สถานะของพระองค์ท่านอยู่ในที่ล่อแหลม ภาษาธรรมดาเขาบอกว่า อย่าทำให้ระคายเคืองพระยุคลบาท แต่ความหมายคือ อย่ามาอ้าง
            อดีตนายกรัฐมนตรี จึงทั้งสลดใจ-แปลกใจที่ได้ยินการ อ้าง อย่างไม่บังควร
            ตลอดเวลาที่ผมเป็นนายกฯ 2 ครั้ง ครั้งแรก 1 ปี 5 เดือน ครั้งที่ 2 ราว 5-6 เดือน พระองค์ท่านไม่เคยก้าวก่ายเรื่องการเมืองเลย ไม่เคยเลย บางครั้งผมถึงสลดใจที่คนชอบอ้างต่างๆนานาและในสังคมไทย พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพรัก เป็นที่สักการบูชา แต่ก็มีความพยายามที่จะดึงสถาบันลงมา ดึงพระเจ้าอยู่หัวลงมาให้เปรอะเปื้อน
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้มีบารมีมาก ไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับไหนเลย แต่เป็นบารมีที่ท่านสะสมมาจากการปฏิบัติพระองค์ท่านในฐานะพระมหากษัตริย์ สนใจกับกิจกรรมที่ท่านทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวสยาม ตั้งแต่ขึ้นครองราชย์มาท่านทำเรื่องทุกข์สุขของประชาชน และความมั่นคงของประเทศชาติ
            ในช่วงเวลา 7-8 ปี ที่ผ่านมา จึงมีปรากฏการณ์-ธรรมเนียม ที่ต่างไปจากอดีต ที่เมื่อนายกรัฐมนตรีมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ แล้วถูกนำออกมาบอกเล่า
            จริงๆ ไม่ควรมีข่าวอะไรมาก นอกจากข่าวพระราชสำนัก และเข้าเฝ้าฯ มาแล้วอาจมีการบอกเล่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสายงานที่ต้องไปทำต่อ ท่านไม่เคยแสดงว่าท่านต้องการอะไร ตั้งแต่สมัยก่อน 30-40 ปี แต่เวลามีรัฐประหารทีไรก็จะมีข่าวออกมาเสมอว่า เรื่องนี้ได้ไฟเขียวจากพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ผมคิดว่ามันแปลก และไม่จริง
            หรือเมื่อเร็วๆนี้ ทักษิณ (ชินวัตร) ก็เพิ่งให้สัมภาษณ์เรื่องเหตุการณ์ก่อนปฏิวัติ 19 กันยายน 49 ผมว่ามันเป็นเรื่องเพ้อฝันที่ไม่น่าเกิดขึ้น และมันไม่เป็นความจริง
            เป็นเรื่องที่ใครก็ตาม ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้บ้าง ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรเปิดเผย เพราะฉะนั้น เป็นการเอาเปรียบพระเจ้าอยู่หัวนะ นายกรัฐมนตรีบางคนถึงขนาดเอากล้องทีวีไปถ่ายเพื่อให้คนดูได้ยินว่าคุยอะไรกับพระเจ้าอยู่หัวเรื่องอะไร ซึ่งไม่ถูก ไม่เหมาะสมที่จะทำ
            ในยุคความขัดแย้งลงลึกถึงระดับปัจเจกเข้าถึงครอบครัว อานันท์ ไม่มองแบ่งแยก แต่รวบรวมประเด็นปัญหาจาก ระบบ ไปถึงตัวบุคคล
            ถ้ามีระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องสมบูรณ์จะลดปัญหาคอร์รัปชั่นไปได้ หากนายกรัฐมนตรีไม่โกงคนหนึ่ง ประเทศก็จะดีขึ้นเยอะ เหมือนคำที่ว่า ถ้าหัวไม่ส่ายหางก็ไม่กล้าขยับ แต่ถ้าหัวส่าย หางยอ่งแกว่งใหญ่เลย ถ้านายกฯไม่กิน รัฐมนตรีไม่กิน นักการเมืองจะกินก็เหนื่อย นักธุรกิจก็เช่นกัน
            ปัญหาสังคมไทยไม่ใช่เรื่องคอร์รัปชั่นอย่างเดียวนะ อาจมีคนดีตั้งใจ แต่ทำงานไม่เป็น ก็เหนื่อยเหมือนกันนะ หรือคนทำงานเก่งแต่ขี้โกง ก็เหนื่อยอีก

ไม่มีความคิดเห็น: